การออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊ก


    เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊กหรือที่ภาษา อังกฤษเรียกว่า Taichi ว่ามีส่วนช่วยในเรื่องการทรงตัวในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยการศึกษาดังกล่าวได้นำกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยพาร์กินสัน 195 ราย มาแบ่งเป็นสามกลุ่มเท่าๆกัน โดยกลุ่มแรกให้ออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊ก (Taichi) กลุ่มสองให้ออกกำลังกายด้วยการฝึกซ้อมต่อสู้กับแรงต้านทานโดยเน้นการเพิ่ม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Resistance training) และกลุ่มสุดท้ายให้ออกกำลังกายด้วยการยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ (Stretching) ทั้งนี้กลุ่มผู้ป่วยแต่ละกลุ่มจะออกกำลังกายสัปดาห์ละสองครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 24 สัปดาห์ โดยใช้เวลาออกกำลังกายในแต่ละครั้งเป็นเวลา 60 นาที โดยผลการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสันที่ออกกำลังกายด้วยวิธีการรำไท เก๊กมีการทรงตัวที่ดีกว่าการออกกำลังกายอีกสองชนิด พร้อมทั้งยังช่วยในเรื่องการทรงตัวของผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการหกล้มได้ อีกด้วย 1

      สำหรับ การรำไทเก๊กเป็นศาสตร์การออกกำลังกาย ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีนที่ผสมผสานทั้งพลังลมปราณและการฝึกสมาธิ ทั้งนี้การรำไทเก๊กจะมีความหนักแน่นและมีกระบวนท่าทั้งหมดถึง 128 ท่า นอกจากศาสตร์การออกกำลังกายด้วยการรำไทเก๊กแล้ว ยังมีการรำอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ชี่กง (Qigong) ซึ่งมีความแตกต่างจากการรำไทเก๊กในแง่ของความนุ่มนวลกว่าและร่ายรำไปตามบท เพลง โดยหลักการของชี่กงจะประกอบไปด้วยหลักใหญ่ๆสามประการ คือ บริหารกายตามกระบวนท่าลีลานิ่มนวลและต่อเนื่อง หายใจเข้าออกสัมพันธ์กับกระบวนท่า และสุดท้ายเป็นเรื่องการฝึกจิตให้ล่องลอยไปตามกระบวนท่า อย่างไรก็ตามทั้งสองศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นไทเก๊กหรือชี่กงมีผลดีต่อสุขภาพทั้ง ในแง่ร่างกายและจิตใจ 
         " สำหรับผู้ป่วยพาร์กินสันที่สนใจจะออกกำลัง กายด้วยการรำไทเก๊กหรือรำชี่กงควรปรึกษาแพทย์และมีผู้ดูแลในขณะออกกำลังกาย ทั้งนี้ผู้ป่วยพาร์กินสันควรแจ้งให้ผู้ฝึกสอนให้รับทราบเกี่ยวกับอาการเพื่อ สามารถปรับท่วงท่าในการรำให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เพราะบางครั้งท่าการร่ายรำบางท่าอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยพาร์กินสันก็เป็นได้ "

สำหรับ ผู้ที่สนใจอยากฝึกรำชี่กงสามารถมาฝึก ได้ทุกวันบริเวณหอนาฬิกา สวนลุมพินี ตั้งแต่เวลา 06.45 น. – 07.45 น. และจะมีการสอนท่ารำชี่กงเฉพาะท่าทุกวันอาทิตย์ โดยชมรมกายบริหารลมปราณชี่กงสวนลุมพินี 
         สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่เบอร์ 089-6846867 อ.ภัทราภรณ์ พรประยูรชัย 2


เอกสารอ้างอิง

  1. Fuzhong Li, Peter Harmer, Kathleen Fitzgerald, Elizabeth, Ronald stock, Johnny Galver, Gianni Maddalozzo and Sara S. Batya; Tai Chi and Postural Stability in Patients with Parkinson’s Disease; New England Journal of Medicine 2012;366;6; 511-519
  2. http://www.welovebangkok.com/th/life-in-bkk/around-town-360

แปลและเรียบเรียงโดย ภก.ประมณฑ์ วิวัฒนากุลวาณิชย์

Visitors: 35,623