แนวทางจัดการความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยพาร์กินสัน


 

     อาการ ของโรคพาร์กินสันนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วย แต่ยังส่งผลให้เกิดความเครียดของผู้ดูแลเช่นเดียวกัน อันสืบเนื่องมาจากการดำเนินของโรคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ความเครียดยังส่งผลเชิงลบต่อร่างกายและสุขภาพจิตของผู้ดูแล และยังส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลอีกด้วย ทั้งนี้จึงมีข้อแนะนำที่จะช่วยลดความเครียดของผู้ดูแลผู้ป่วยดังต่อไปนี้คือ

     - ผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ควรลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะว่าขณะที่การดำเนินของโรคเพิ่มขึ้น การดูแลผู้ป่วยพาร์กินสันโดยลำพังอาจจะมีความยากลำบากมากขึ้น

     - ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย บางครั้งอาจต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดและหงุดหงิด ดังนั้นผู้ดูแลควรจะมีเวลาพักผ่อนบ้างเป็นครั้งคราว

     - ถึงแม้นผู้ดูแลผู้ป่วยจะเสียสละและทุ่มเทมากแค่ไหน ผู้ดูแลก็ยังจำเป็นต้องการเวลาพัก เพื่อทำให้สุขภาพกายและใจกลับมาสดชื่นอีกครั้ง การยอมรับความช่วยเหลือและการแบ่งเบาภาระหน้าที่บางอย่างให้ผู้อื่นที่เต็ม ใจให้ความช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

     - ในฐานะที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย ถ้ามีความรู้สึกท้อแท้ เหนื่อยล้า หรือสิ้นหวัง ผู้ดูแลควรหาใครสักคนที่ไว้ใจได้และพูดระบายความรู้สึกให้แก่บุคคลดังกล่าว

     - กลุ่มช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสัน โปรแกรมการดูแลผู้ป่วยในชุมชน ศูนย์ดูแลผู้ป่วย ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสถานที่ที่สำคัญที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือในการดูแล ผู้ป่วย


ผู้ดูแลผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีในการลดความเครียด บางครั้งความช่วยเหลือจากจิตแพทย์อาจมีความจำเป็นในบางกรณี


แหล่งที่มา www.parkinsonseducation.org
แปลและเรียบเรียงโดย ภก.ประมณฑ์ วิวัฒนากุลวาณิชย์

Visitors: 34,565